วันเสาร์ที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๐

"โดราเอมอน" (ดิงดอง) จินตนาการไร้ขอบเขต



ถ้าโลกนี้ไม่มีสองหนุ่มญี่ปุ่นที่ชื่อ "ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ" และ "อาบิโกะ โมโตโอะ" (ฟูจิโกะ - ฟูจิโอะ) แล้วมนุษย์เราจะเป็นอย่างไร?

คำตอบอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญระดับที่จะทำให้โลกแตกอะไร แต่เชื่อว่าผู้คนจำนวนมากคงอดที่จะใจหายและเสียดายไม่ได้ ถ้ารู้ว่าพื้นที่ความทรงจำส่วนหนึ่งของตนเองจะไม่มีเรื่องราวของเจ้าแมวหุ่นยนต์ตัวสีฟ้าจากโลกในศตวรรษ 21 ที่ชื่อ "โดราเอมอน"

หากจะนับเอาปี พ.ศ.2522(อย่างเป็นทางการ)ที่มีการทำให้เจ้าหุ่นยนต์แมวตัวนี้เคลื่อนไหวโลดแล่นอยู่บนจอทีวีปีนี้โดราเอมอนก็จะมีอายุที่เข้าสู่วัยเบญเพสพอดิบพอดี(และหากนับเอาปี พ.ศ.2512 ซึ่งเป็นปีที่ชายหนุ่มทั้งสองเขียนการ์ตูนเรื่องนี้ขึ้น ปีนี้โดราเอมอนก็จะมีอายุ 35 ปีเข้าไปแล้ว) แต่ดูเหมือนว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่เรื่องราวความสนุกของเจ้าแมวสีฟ้าที่ถูกส่งมาเพื่อช่วยเหลือเด็กขี้แย "โนบิตะ" ด้วยของวิเศษ(ของเล่นจากโลกอนาคต)รวมทั้งผองเพื่อนทั้ง "ชิซูกะ" "ไจแอนท์" "ซูเนโอะ" ก็ยังคงอยู่ตลอดไป

เป็นความทรงจำที่แสนจะประทับใจที่ถ่ายทอดกันไปจากเด็กรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้อย่างไม่มีคำว่า "ล้าหลัง" หรือ "เชย" แต่อย่างไร

จินตนาการที่ไร้ขอบเขต

ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว จะมีใครเชื่อบ้างว่าเจ้าหุ่นยนต์แมว(กลัวหนู)ตัวนี้จะกลายเป็นตัวการ์ตูนที่โด่งดังขึ้นมาเป็นที่รู้จักของทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกือบทั้งโลกอย่างที่เป็นอยู่ เนื่องจากในระยะแรกงานการ์ตูนเรื่องนี้ของ "ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ" และ "อาบิโกะ โมโตโอะ" นั้นไม่ได้รับความนิยมมากเท่าไหร่

"ถ้ามองดีๆ โดราเอมอนค่อนข้างจะมีกลิ่นอายของพล็อตเรื่องที่มาจากพวกฝรั่งนะ"..."แม้ว -สุริยัน สุดศรีวงศ์" นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนชื่อดังแสดงทัศนะ

"แต่ก่อนจะมีนักเขียนอังกฤษที่เขาเขียนเรื่อง Five Children and It คือเป็นภูตหรือว่าอะไรทำนองนี้ที่มาอยู่กับเด็กๆ แล้วก็จะมีเวทมนตร์ซึ่งก็เหมือนกับของวิเศษของโดราเอมอนแต่ว่ามันจะมีฤทธิ์อยู่แค่พระอาทิตย์ขึ้นหรือตก คือพล็อตเรื่องในทำนองที่ว่ามีตัวอะไรมาช่วยเด็กๆ เนี่ยญี่ปุ่นมีเยอะนะอย่าง ฮาโตริ หรือว่าอย่างผีน้อยคิวทาโร่"

ใช้เวลา 4 ปี หลังจากการเขียนการ์ตูนเรื่องนี้กระทั่งมีการรวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊กเป็นครั้งแรก ชื่อของโดราเอมอนจึงได้เป็นที่รู้จักขึ้นมาในหมู่ของเด็กๆ ชาวญี่ปุ่นและด้วยจินตนาการที่เลิศหรูของคนแต่งบวกกันกับแนวเรื่องเปิดที่วางไว้ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการทำโดราเอมอนออกมาเป็นการ์ตูนทางโทรทัศน์ เจ้าแมวตัวนี้ก็ยิ่งได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักของเด็กๆ ไปทั่วทั้งเอเชีย โดยใน ปี 2535 มีการบันทึกไว้ว่าการ์ตูนโดราเอมอนนั้นมียอดพิมพ์กว่า 80 ล้านเล่มเลยทีเดียว

"ผมเรียกว่าเป็นเรื่องแบบปลายเปิดนะ ก็คือไม่มีจบทำได้เรื่อยๆ ของวิเศษสามารถที่จะเอาออกมาได้เรื่อยๆ ความสมบูรณ์ของโดราเอมอนมันอยู่ที่ไอเดียของผู้เขียนเพราะฉะนั้นถ้าสามารถนึกอะไรได้ก็สามารถที่จะเขียนได้เรื่อยๆ"

"ที่ได้รับความนิยมแน่นอนว่าคงจะเป็นเรื่องของการเติมเต็มจินตนาการให้กับเด็กๆ ที่สมบูรณ์แบบมากๆ เด็กๆ เนี่ยร้อยทั้งร้อยผมว่าเขานึกเขาฝันว่ามันจะมีตัววิเศษอะไรสักตัวหนึ่งที่เขาอยากจะได้มาอยู่ด้วยอยู่แล้ว แล้วอีกอย่างการ์ตูนเรื่องนี้ค่อนข้างจะอยู่กึ่งกลางเด็กผู้หญิงหรือผู้ชายก็อ่านได้"

ที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมากของโดราเอมอนในมุมของนักเขียนวรรณกรรมเยาวชนคนนี้ก็คือการที่เด็กๆ จะได้รับการสั่งและสอนไปโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว

"จุดหนึ่งที่น่าจะเป็นตัวแปรก็คือเรื่องของการหาเหตุผลที่ตัววิเศษเหล่านี้จะมาอยู่กับเด็กๆ อย่างฮาโตริก็คือเป็นนินจาหลงยุค ปาแมนก็มาโดยบังเอิญแต่โดราเอมอนมันเป็นเรื่องของการกลับมาเพื่อเปลี่ยนอนาคต กลับมาเพื่อที่จะต้องทำปัจจุบันให้ดี ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่ดูหนักแน่นที่สุด แล้วอีกอย่างที่น่าสนใจก็คืออย่างพวกของวิเศษหรือว่าพวกอิทธิฤทธิ์ต่างๆ จะสังเกตได้ว่าคนเขียนเขาจะเตือนไว้ว่าอย่าพึ่งสิ่งพวกนี้อย่างจริงๆ จังๆ เพราะอย่างไรความสามารถของตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ จะเห็นว่าตอนจบแต่ละตอนเขาจะดึงๆ เอาไว้ตลอด แล้วก็จะมีเรื่องวุ่นๆ เกิดขึ้นตลอดเวลาหากมีการใช้ของวิเศษขึ้นมา"

"จะมองในแง่ของเรื่องการส่งเสริมทางแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ก็ได้ หรือจะมองเป็นประเด็นทางสัมคมก็ได้มันก็อยู่ในตัวโกง ไจแอนท์ ซูเนโอะ แต่ไม่ว่าจะทะเลาะกันอย่างไร ก็เป็นเพื่อนกันหมด ซึ่งญี่ปุ่นจะเน้นเรื่องนี้มากๆ อย่างดราก้อนบอลก็สู้กันแทบตายแล้วก็มาเป็นเพื่อนกัน หรืออย่างโรงเรียนนายร้อยลูกผู้ชายก็เหมือนกัน คือตรงนี้บางคนอาจจะมองว่าเป็นการทำให้เด็กมีความรุนแรง ซึ่งมันไม่ใช่ แต่มันจะทำให้เด็กเกิดอาการผ่อนคลายเพราะมันค่อนข้างจะมีเหตุผลอยู่ในตัวของมันเองเด็กจะไม่ทำอะไรที่มันรุนแรงกับสังคม เพราะเขาถูกปลูกฝังให้รักกัน อย่างในโดราเอมอน อาจจะทะเลาะกับใจแอนท์หรือว่าซูเนโอะ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเวลาที่จะต้องมาผจญภัยพวกเขาก็จะต้องมาด้วยกัน"

ตัวกลมสีฟ้า กับความรู้สึกของเด็กๆ

ที่มาของรูปร่างของโดราเอมอนค่อนข้างจะเป็นอะไรที่ฟลุกๆ อยู่เหมือนกัน เพราะในขณะที่ฮิโรชิกำลังอยู่ในภาวะความกดดันไม่รู้ว่าตนเองจะเขียนการ์ตูนเรื่องอะไร(มีเพียงโครงเรื่องว่าตัวเอกจะมาจากลิ้นชัก) ระหว่างนั้นเขาก็เกิดไปสะดุดตาเอากับตุ๊กตากลมๆ ฮิโรชิจึงเกิดไอเดียด้วยการนำเอาหน้าของแมวตัวหนึ่งที่มักจะเข้ามาเล่นกับเขาเป็นประจำมารวมกับเจ้าตุ๊กตาตัวนั้น โดยให้ชื่อว่า "โดราเนโกะ" ที่แปลว่าแมวหลงทาง(ส่วนคำว่า "เอมอน" เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อน)

"ลักษณะของโดราเอมอนที่ทำขึ้นมาเป็นตัวกลมๆ อ้วน เล็กๆ ที่ออกไปในแนวนุ่มนิ่ม แล้วทำให้การ์ตูนตัวนี้เป็นคนที่อารมณ์ดี เป็นผู้ดูแลโนบิตะมาตลอด มันเหมือนแฝงความเป็นผู้ใหญ่เอาไว้ด้วย..." เป็นการวิเคราะห์จาก "แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นและผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13

นอกเหนือจากการเป็นจิตแพทย์แล้วนายแพทย์หญิงคนนี้ยังเป็นคนหนึ่งที่มีความชื่นชอบตัวการ์ตูนโดราเอมอนอยู่ไม่น้อยไปกว่าลูกชายตัวน้อยของเธอที่มีความหลงใหลได้ปลื้มเจ้าแมวสีฟ้าตัวนี้มากๆ ถึงขนาดเก็บของสะสมทุกอย่างเกี่ยวกับการ์ตูนโดราเอมอนไว้เกือบจะทุกอย่าง

"สีฟ้าเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงความสดใส ความสบายใจอยู่แล้ว อีกทางคือมันจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของเด็กๆ มากกว่าเมื่อเทียบกับสีที่มันดูฉูดฉาด ซึ่งสีจำพวกนี้มันอาจดูแข็งเกินไป แล้วส่วนมากที่ดูโดราเอมอนจะเป็นเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในช่วงวัยกำลังซนได้ที่อยู่พอดี ก็เป็นอะไรที่ลงตัว"

ไม่ใช่เพียงเรื่องของรูปลักษณ์เท่านั้นหากแต่เนื้อหาที่สื่อออกมาก็แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ จริงๆ

"หมอว่าส่วนที่น่าสนใจที่สุดของการ์ตูนโดราเอมอนก็คือการวางโครงเรื่อง คนแต่งเขามีจิตวิทยามาก เขาให้โนบิตะเป็นตัวแทนของเด็กคนหนึ่งที่มีทั้งส่วนที่เกเรและในขณะเดียวกันก็มีส่วนที่เป็นเด็กดีด้วยเช่นกัน โดยมีตัวโดราเอมอนเป็นพี่เลี้ยงคอยอยู่เคียงข้างเสมอ ไม่ใช่ว่าเขาจะรักกันดูดดื่มนะ แต่ในการที่เขาจะทำอะไรให้โนบิตะสักอย่างมันต้องมีเงื่อนไข มันมีช่องว่างทำให้เด็กคิดว่าโนบิตะเป็นคนดี"

ไม่มีความคิดเห็น: